นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า สำหรับเกษตรกรสมาชิก ที่มีความประสงค์ขอขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกร สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดทั่วประเทศได้ทุกวันในวันและเวลาทำการ ทั้งนี้ การเปิดรับขึ้นทะเบียนหนี้ได้ตลอดทั้งปี ถือเป็นอีกหนึ่งการทำงานเพื่อเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ จากเดิมที่กำหนดเปิดรับขึ้นทะเบียนเพียงช่วงเวลา 3-6 เดือนในแต่ละปี แต่เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พรบ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่นำมาซึ่งประโยชน์ในการส่งเสริม สนับสนุนและรักษาอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกร รวมถึงการรักษาพื้นที่ทำกินให้เกษตรกร กองทุนฟื้นฟูฯ จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนหนี้ ได้ทุกวันทำการ
“ ต้องขอชี้แจงว่า การขึ้นทะเบียนหนี้กับ กฟก. มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก ขอเพียงมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานสาขาจังหวัดที่เกษตรกรมีที่อยู่อาศัย โดยเอกสารสำคัญที่ใช้ยื่นประกอบพร้อมแบบฟอร์มขอขึ้นทะเบียน เช่น หลักฐานการเป็นหนี้ สัญญากู้ยืมเงิน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน แต่หากเป็นเกษตรกรที่ถูกฟ้องร้องบังคับคดี จำเป็นต้องแนบหลักฐานการฟ้องด้วย โดยยื่นเอกสารทั้งหมดพร้อมแบบฟอร์มกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสาขา จากนั้นสาขาจะรวบรวมรายชื่อเสนอคณะอนุกรรมการฯ จังหวัดพิจารณาอนุมัติ ทั้งหมดนี้คือขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ”
นายสมยศ กล่าวต่อไปว่า การพิจารณาว่าเกษตรกรท่านใด จะได้รับการขึ้นทะเบียนหรือไม่นั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องเป็นเกษตรกร ตามนิยมคือ มีรายได้มาจากการประกอบอาชีพเกษตร มากกว่าร้อยละ 50 และที่สำคัญอีกประการ คือ ต้องเป็นหนี้ในระบบ เช่น เป็นหนี้ธนาคาร หนี้สหกรณ์ ที่นำไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นถ้าข้อมูลและเอกสารถูกต้องครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รับรองได้ว่าเกษตรกรต้องได้รับการช่วยเหลือทุกราย “ ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ จำนวน 508,942 ราย มูลค่าหนี้รวม 104,226 ล้านบาท ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ดำเนินการจัดการหนี้ หรือชำระหนี้แทนให้เกษตรกรแล้ว เป็นจำนวนถึง 30,000 ราย เป็นเงินเกือบ 7,000 ล้านบาท ส่วนกรณีของหนี้ NPA หรือที่เรียกว่า ทรัพย์สินที่ถูกขายทอดตลาด เป็นหนี้อีกประเภทหนึ่งที่กองทุนฟื้นฟูฯกำลังดำเนินการช่วยเหลือด้วยการขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อดำเนินการซื้อทรัพย์สินคืนให้พี่น้องเกษตรกร และมีผลดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการซื้อทรัพย์คืนเกษตรกร ไปแล้ว 500 กว่าราย เป็นเงินกว่า 300 ล้าน”
นายสมยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การแก้ไขหนี้สินของเกษตรกรสมาชิกในอนาคต กองทุนฟื้นฟูฯ ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทั้งในปีงบประมาณ 2564 และที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 เช่น การแก้ไขกฏหมายผ่านทางรัฐสภา ซึ่งล่าสุดคือ การแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 พร้อมกันนี้จะดำเนินการแก้ไขในส่วนของลูกหนี้ธนาคารให้แล้วเสร็จ ซึ่งต้องมีการขอสนับสนุนงบประมาณ และมีการแก้ไขระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรสมาชิกให้ประสบความสำเร็จตามเจตนารมย์ของกองทุนฟื้นฟูฯ