นายชัฐพล สายะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “ทุเรียนปราจีน” จังหวัดปราจีนบุรี เป็นสินค้าเกษตรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พาณิชย์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 โดยในปี 2558 ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ประเภทการค้าภายในประเทศจากกิจกรรมการประกวดงานวันทุเรียนโลก ทั้งนี้ ทุเรียนปราจีนสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดปราจีนบุรีกว่า 50 ล้านบาท/ปี นับว่าเป็นโอกาสทางการค้า และยังเป็นการยกระดับทุเรียนให้เป็นสินค้าคุณภาพที่ได้มาตรฐานการผลิต สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ผู้ค้า ในด้านของคุณภาพและความปลอดภัย
ปัจจุบันจังหวัดปราจีนบุรี มีเนื้อที่ปลูกทุเรียนปราจีน GI จำนวน 2,770 ไร่ เนื้อที่ให้ผล จำนวน 1,574 ไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนปราจีน GI จำนวน 157 ราย พื้นที่ปลูกครอบคลุมใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปราจีนบุรี กบินทร์บุรี ประจันตคาม ศรีมหาโพธิ และนาดี เนื่องจากเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับการปลูกทุเรียน ลักษณะสภาพดินชั้นบนเป็นดินร่วนปนทราย ดินชั้นล่างเป็นหินผุและศิลาแลงทำให้ระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ขังในเนื้อดิน การกระจายตัวของธาตุอาหารทั่วถึง ประกอบกับมีลักษณะภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน และมีความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสม สำหรับทุเรียนปราจีน GI มีสายพันธุ์การค้า และสายพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งสายพันธุ์การค้า ได้แก่ พันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี และพันธุ์กระดุมทอง ส่วนสายพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ พันธุ์กบชายน้ำ พันธุ์ชมพูศรี และพันธุ์กำปั่น ทั้งนี้ เกษตรกรจะนิยมปลูกพันธุ์หมอนทองมากที่สุด เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
จากการลงพื้นที่ของ สศท.6 เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาทุเรียนปราจีน จังหวัดปราจีนบุรี ที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งผลการศึกษา พบว่า ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 25,521 บาท/ไร่/ปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 5 – 6 และสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 25 – 30 ปี) เกษตรกรจะปลูกช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,031 กิโลกรัม/ไร่/ปี (ทุเรียน 1 ลูก มีน้ำหนักเฉลี่ย 3.00 – 3.50 กิโลกรัม) เกษตรกรได้ผลตอบแทน 166,400 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 140,879 บาท/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ มิถุนายน 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 200 บาท/กิโลกรัม (ขายแบบคละทั้งหมด) เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานและคุณภาพของทุเรียน เกษตรกรจะให้ความสำคัญในการคัดทุเรียนที่แก่จัดจึงจะตัดออกจำหน่าย ซึ่งทุเรียนหมอนทองจะใช้ระยะเวลาประมาณ 125 – 130 วัน หลังดอกบาน
สำหรับสถานการณ์ด้านตลาด ผลผลิตทุเรียนปราจีน GI จะเน้นจำหน่ายภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 68 จำหน่ายให้กับพ่อค้ารับซื้อในพื้นที่ และอีกร้อยละ 32 เกษตรกรจะจำหน่ายผ่านหน้าร้าน ซึ่งจะใช้พื้นที่หน้าสวน ของเกษตรกรเพื่อจำหน่าย นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ เช่น Facebook ให้กับผู้บริโภคโดยตรง โดยจัดส่งสินค้าผ่านหลายช่องทาง อาทิ ไปรษณีย์ไทย และ Kerry Express สำหรับแนวโน้มในอนาคต คาดว่าเกษตรกรจะขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนปราจีน GI เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด รวมถึงเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต และมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดปราจีนบุรีอีกด้วย
ผู้อำนวยการ สศท.6 กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาเพื่อยกระดับทุเรียนปราจีน GI นั้น จะเน้นในเรื่องของตลาดออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า ด้านกระบวนการผลิตในการจัดทำฐานข้อมูลความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละตลาดเพื่อให้สามารถวางแผนการผลิตและการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ ด้านการรักษาคุณภาพของผลผลิต เกษตรกรจะมีความประณีตในทุกขั้นตอนการผลิต การจดบันทึกนับอายุผลหลังดอกทุเรียนบาน เพื่อกำหนดอายุการเก็บเกี่ยวร่วมกับการเคาะและตัดทีละผล เน้นที่คุณภาพเป็นสำคัญ ไม่ป้ายสารเร่งสุก และจะคัดเฉพาะทุเรียน ที่แก่จัดออกจำหน่าย ทั้งนี้ สำหรับผลการศึกษาดังกล่าว สามารถนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำแผนงานโครงการ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพทุเรียนปราจีน GI ให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และพัฒนาสู่การส่งออก รวมถึงยังเป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดปราจีนบุรีได้ในระยะยาว หากท่านใดสนใจผลการศึกษาเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.6 ชลบุรี โทร 0 3835 1261 หรืออีเมล [email protected]