ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมมาจัดการความรู้ก่อนการนำไปถ่ายทอดให้แก่กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมจึงทำการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการความรู้จากผลงานวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์แล้วและนำสู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ตามความต้องการของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ภายใต้โครงการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม วช.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการใช้ปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว เพื่อการใช้ประโยชน์ในชุมชนเกษตรกรรายย่อย เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร และลดการเผาตอซังฟางข้าว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเกิด PM.2.5 .
รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลััยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เปิดเผยว่า หลัังจากที่ได้รับทุนสนับสนุจาก วช. วิจัยและพัฒนาการผลิตปุ๋ยคอกอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังฟางข้าว เพื่อลดการเผาตอซังฟางข้าวในชุมชนเกษตรกร หลังจากนั้นได้รับทุนต่อเนื่องจาก วช. เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีีการผลิตและการใช้ปุ๋ยคอกให้แก่เกษตรกร และได้ดำเนินโครงการเสร็จสิ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยดำเนินการในพื้นที่ 10 จังหวัด ภายใต้ความร่วมมือกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ (2 พื้นที่) นครราชสีมา ขอนแก่น อำนาจเจริญ ภาคกลาง ได้แก่ กาญจนบุรี และนครนายก ภาคตะวันออก คือจังหวัดชลบุรี ในทุกพื้นที่จะมีแปลงนานำร่อง 5 ไร่ สำหรับสาธิตวิธีการดำเนินงาน และการอบรมให้ความรู้เกษตรกรในการผลิต การขยาย และรักษาเชื้อจุลินทรีย์ และวิธีการทำปุ๋ยเม็ด จนเกษตรกรสามารถผลิตได้ด้วยตัวเอง พร้อมกันนี้ได้มอบเครื่องอัดเม็ดปุ๋ยขนาดครัวเรือนให้เกษตรกรไปกลุ่มละ 1 เครื่อง เพื่อเป็นต้นแบบในการผลิตปุ๋ยใช้ในชุมชน จนกระทั่งเกิดการขยายผลในทุกๆพื้นที่ ๆ ละ 200 ไร่ ในส่วนของการใช้ปุ๋ยเม็ดมีวิธีดำเนินการคือ หลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว จะหว่านปุ๋ยเม็ดผสมจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังฟางข้าวในอัตรา 100 กิโลกรัม/ไร่ จากนั้นไถกลบฟางข้าว แล้วทิ้งไว้ 14 วัน เพื่อให้จุลินทรีย์ทำงาน เมื่อตอซัังฟางข้าวย่อยสลายก็จะได้ปุ๋๋ยหมักที่มีธาตุอาหารทั้ง ไนโตรเจน โปรตัสเซียม (P) และฟอสฟอรัส (K) ประมาณ 600-700 กิโลกรัม อยู่ในนาข้าว (จากปุ๋ยเม็ด 100 กิโลกรัม และฟางข้าวในนาที่ถูกย่อยสลาย ประมาณ 500 – 600 กิโลกรัมต่อไร่)
ซึ่งเพียงพอสำหรับสำหรับใช้เป็นธาตุอาหารในการปลูกข้าวฤดูกาลถัดไป ระหว่างการเพาะปลูกเมื่อข้าวออกรวง จะให้เกษตรกรนำน้ำหมักของโครงการที่มีจุลินทรีย์สายพันธุ์ที่คัดสรรมาฉีดเพื่อเพิ่มน้ำหนักรวงข้าว และที่สำคัญคือ ในช่วงการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกจะไม่มีการเผากลบตอซังฟางข้าวเลย เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการเพาะปลูกแบบเดิม เปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยเม็ดผสมจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังฟางข้าวจะให้ผลดีดังนี้ 1) ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาฝุ่น PM. 2.5 ที่เกิดจากการเผาตอซังหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 50 เปอร์เซนต์ 2) สภาพพื้นดินร่วนซุยมากขึ้น ทำให้รากข้าวสามารถหาอาหารได้ดีขึ้น ตามปกติหลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว เกษตรกรจะทิ้งตอซังฟางข้าวให้แห้งคาแปลงนาประมาณ 4-5 เดือน ดินจึงแห้งและแข็ง จนเมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูกครั้งใหม่จึงเริ่มไถกลบและเผาตอซังฟางข้าวเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก แต่วิธีการที่โครงการลงไปให้คำแนะนำ เป็นการไถกลบหลังจากเก็บเกี่ยวไม่นาน ในขณะที่ดินยังมีความชื้นทำให้ดินร่วนซุยได้มากกว่าวิธีที่เกษตรกรเคยทำ 3) ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 26 / ไร่ จากที่เคยทดลองในแปลงข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวจาก 600 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 760 กิโลกรัม/ไร่ 4) ลดการใช้ปุ๋ยได้ประมาณ 800 -1,200 บาท/ไร่ เพราะตลอดฤดูกาลเพาะปลูกมีปุ๋ยจากตอซังฟางข้าว เกษตรจึงไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเพิ่ม 5) ผลจากการลดต้นทุุน เพิ่มผลผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 18 % 6) เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการผลิต-ขายปุ๋ยเม็ดผสมจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังฟางข้าว เท่าที่ทราบในขณะนี้มีกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการอบรมที่จังหวัดอุดรธานีให้ความสนใจผลิตปุ๋ยเม็ดผสมจุลินทรีย์เพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เสริม.
สำหรับแนวทางในอนาคตควรจะมีการขยายผล และรณรงค์ให้มีการใช้ปุ๋ยเม็ดผสมจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังฟางข้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยเพื่อใช้ในชุมชน ในส่วนของโครงการได้มีการอบรมเกษตรกรไปแล้วประมาณ 400 คน และทั้งหมดก็มีขีดความสามารถที่จะเป็นครูต้นแบบเพื่ออบรม ขยายผลความรู้นี้สู่เกษตรกรรายอื่นๆ