จุฬาฯ นำร่องวิจัยหาปริมาณ THC ในเครื่องดื่มกัญชา พบกว่า 30 %เกินกำหนด แนะรัฐออกกฏเหล็กคุ้มเข้ม

ชีวเคมี จุฬาฯ เผยผลวิจัย พบเครื่องดื่มกัญชาที่สุ่มตรวจกว่า 30 % มีปริมาณสาร THC เกินกำหนด เตือนผู้บริโภคดื่มแต่น้อย เด็กไม่ควรดื่ม แนะรัฐออกมาตรการควบคุม สื่อสารทั้งคุณและโทษของกัญชา

หลังจากที่กัญชาและกัญชงถูกถอดออกจากบัญชียาเสพติด เปิดทางสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจ ตลาดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาก็คึกคักและขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีทั้งชากัญชา กาแฟกัญชา ตลอดจนตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติที่จำหน่ายเครื่องดื่มที่มีกัญชาผสม ปัจจุบัน กัญชาจึงกลายเป็นเครื่องดื่มที่เข้าถึงง่ายและกระจายสู่ทุกกลุ่มผู้บริโภค

ข้อมูลจากการประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เพื่อการพัฒนาศักยภาพการวิจัย และนักวิชาการการเสพติด ครั้งที่ 9 ที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์ 2565) เผยว่าคนไทยที่ใช้กัญชามีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ เกือบเท่าตัว โดยผลสำรวจล่าสุด (ปี 2564) มีคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ใช้กัญชา จำนวนประมาณ 1.89 ล้านคน หรือคิดเป็น 4.3% เทียบกับผลสำรวจเมื่อปี 2563 ที่มีผู้ใช้กัญชาอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคน

เทรนด์การบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาทำให้แพทย์และนักวิจัยด้านสารเสพติดหลายท่านรู้สึกกังวลถึงผลกระทบของสาร THC ในกัญชา ที่หากผู้บริโภคได้รับในปริมาณที่สูงและอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า จิตเภท หลอดเลือดหัวใจ และมะเร็งอัณฑะ เป็นต้น

ด้วยความห่วงใยต่อสุขภาพของผู้บริโภค รองศาสตราจารย์ ดร.เกื้อการุณย์ ครูส่ง อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำร่องศึกษาวิจัยหาปริมาณสาร Δ-9-THC หรือ delta9-tetrahydrocannabidol ในเครื่องดื่มกัญชาที่จำหน่ายในร้านขายเครื่องดื่มทั่วไป เพื่อหาว่ามีปริมาณสาร Δ-9-THC เกินกว่าที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดหรือไม่

“เมื่อมีการนำกัญชามาเป็นส่วนประกอบในอาหารและเครื่องดื่มอย่างเสรี ทำให้คนทั่วไป รวมถึงเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย สื่อหรือโฆษณาต่างๆ ก็มักพูดถึงแต่ข้อดีของกัญชา ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้ทางสันทนาการ หรือนำมารักษาโรค โดยลืมไปว่าผลเสียหรือโทษของกัญชาก็ยังคงมีอยู่หากได้รับในปริมาณที่เกินกำหนด แพทย์หลายท่านก็ออกมาเตือนด้วยว่าไม่ให้เด็กรับประทานโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาจส่งผลต่อระบบประสาท สมองและพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งจิตแพทย์ก็ชี้ว่าสาร Δ-9-THCในกัญชามีผลต่อสุขภาพจิต สมาธิ และเรื่องของภาวะอารมณ์ด้วย” รศ.ดร.เกื้อการุณย์เล่าถึงที่มาของโครงการวิจัย ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.)

โครงการวิจัยครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านที่เข้ามาร่วมวิจัย อาทิ รองศาสตราจารย์ พญ.รัศมน กัลยาศิริ จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการ ศศก. เป็นที่ปรึกษางานวิจัย รองศาสตราจารย์ ภญ.ดร.สรกนก วิมลมั่งคั่ง ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับกัญชาและสารธรรมชาติจากกัญชาอยู่ก่อนแล้ว เข้ามาช่วยให้คำแนะนำ ศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎิล กุลสิงห์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ มาช่วยดูเรื่องปริมาณสาร Δ-9-THC ในเครื่องดื่มที่เก็บตัวอย่างมา

คณะผู้วิจัยได้เก็บตัวอย่างเครื่องดื่มกัญชาและเครื่องดื่มที่ผสมกัญชา ที่ขายอยู่ทั่วไปในร้านขายเครื่องดื่มและคาเฟ่ต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร 30 กว่าตัวอย่าง มีทั้งเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ โซดา และประเภทที่ใส่นม โดยกรรมวิธีการตรวจสอบตัวอย่างเครื่องดื่มนั้นใช้วิธีมาตรฐานระดับสากลที่ใช้ตรวจหาสาร Δ-9-THC ในอาหาร ได้แก่เทคนิคที่เรียกว่า GC-MS (Gas chromatography-Mass spectroscopy) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้แยกและระบุสารต่างๆ ภายในตัวอย่างทดสอบ และ HPLC (High Performance Liquid Chromatography) ในการแยกสารผสมและการหาเชิงปริมาณของสารเป้าหมาย โดยใช้เครื่องสูบแรงดันสูง (high pressure pump)

“ถามว่าเพราะอะไรจึงต้องเป็นเฉพาะเครื่องดื่มกัญชาจากร้านทั่วไป คือหากเป็นเครื่องดื่มกัญชาประเภทสำเร็จรูป พวกนั้นจะมีการขอ อย. และมีฉลากแสดงชัดเจนว่ามีส่วนประกอบของสาร Δ-9-THC ปริมาณเท่าไรต่อ 100 มิลลิลิตร หรือต่อ 1 หน่วยบริโภค แต่เครื่องดื่มที่ขายในร้านประเภทคาเฟ่ ส่วนมากสูตรของเครื่องดื่มจะทำกันขึ้นมาเอง แม้กระทั่งเมนูเดียวกัน ก็ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าแต่ละแก้วมีปริมาณสาร Δ-9-THC เท่ากันหรือเปล่า ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว”

สำหรับผลการสุ่มตรวจหาปริมาณสาร Δ-9-THC ดังกล่าว รศ.ดร.เกื้อการุณย์ เผยว่า “เครื่องดื่มที่สุ่มตรวจส่วนใหญ่มีสาร Δ-9-THCในปริมาณที่ไม่เกินจากที่สาธารณสุขกำหนด แต่ราว 30 % พบว่ามีปริมาณสาร THC เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือแนะนำให้ไม่เกิน 0.015 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ซึ่งหากผู้บริโภคเจอร้านหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณสาร Δ-9-THC เกินกำหนดเหล่านี้ก็จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้สาร Δ-9-THC”

อย่างไรก็ดี งานวิจัยไม่สามารถเปิดเผยหรือระบุว่าเครื่องดื่มใด จากร้านใด มีปริมาณสาร Δ-9-THCเท่าไร แต่อาจนำเสนอในรูปแบบรายงานของ ศศก. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับงานด้านนโยบายต่อไปในอนาคต

งานวิจัยสำหรับปีนี้ (2565) ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และในอนาคต รศ.ดร.เกื้อการุณย์ คาดว่าจะวิจัยโดยมีการเก็บตัวอย่างมากขึ้น อาจจะเป็นการขยายพื้นที่เก็บตัวอย่างไปยังส่วนภูมิภาค หรือเก็บตัวอย่างในอาหารชนิดอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากเครื่องดื่ม

สำหรับผู้บริโภค สิ่งที่ รศ.ดร.เกื้อการุณย์ รู้สึกเป็นกังวลคือปริมาณของสาร Δ-9-THC ที่ได้รับต่อวัน ด้วยประเทศไทยยังไม่เคยมีการกำหนดหรือมีข้อแนะนำว่าควรหรือไม่ควรบริโภคในปริมาณเท่าไรต่อวัน ยกตัวอย่างเช่น ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่ควรบริโภคเกินกี่ไมโครกรัม หากเกินกว่านั้นอาจจะได้รับผลข้างเคียง เป็นต้น ซึ่งแม้แต่ในต่างประเทศเองก็ยังไม่ชัดเจนนัก เพราะยังไม่มีงานวิจัยในเรื่องผลระยะยาวจากการบริโภค ทั้งนี้ อาจจะกำหนดการบริโภคเครื่องดื่มกัญชาหรือที่มีส่วนผสมของกัญชาให้เหมือนเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง ที่มีคำเตือนที่คุ้นหูว่าไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ขวด เป็นตัวอย่าง

“แม้แต่ร้านค้าหรือผู้ประกอบการเอง ปัจจุบันก็น่าจะยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าห้ามไม่ให้มีปริมาณสารΔ-9-THCเท่าไรต่อเครื่องดื่ม 1 แก้ว หรือต่อให้ทราบ ก็ไม่น่าจะสามารถควบคุมปริมาณได้ เพราะไม่เคยมีการตรวจ อีกทั้งกรรมวิธีที่ใช้ในการผลิตของแต่ละร้านก็ต่างกัน หากใช้ใบนำมาต้มผสมเครื่องดื่ม อันนั้นอาจจะไม่ค่อยน่าห่วง เพราะได้ปริมาณสาร Δ-9-THC ออกมาค่อนข้างน้อย แต่ถ้ามีการสกัดด้วยความร้อน หรือใช้เป็นน้ำมันสกัด อันนั้นน่ากังวลมาก และไม่มีทางที่ผู้ประกอบการจะรู้เลยว่า อาหารหรือเครื่องดื่มของตนต่อ 1 serve มีปริมาณ Δ-9-THC เท่าไร”

ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร.เกื้อการุณย์ จึงแนะนำผู้ที่ต้องการทดลองดื่มเครื่องดื่มที่ผสมกัญชาหรือกัญชงให้ใช้ความระมัดระวังและบริโภคแต่น้อย เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับสาร Δ-9-THC มากจนเกิดอันตราย และไม่แนะนำเด็ดขาดสำหรับเด็กในวัยเรียน เนื่องจากยังไม่ทราบผลในระยะยาว

ร้านที่ขายเครื่องดื่มกัญชาหรืออาหารที่ผสมกัญชา ควรมีป้ายหรือประกาศแจ้งให้ผู้บริโภครับทราบอย่างชัดเจน เพื่อผู้ที่ไม่ต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมกัญชาและผู้ปกครองจะได้ระมัดระวัง

การส่งเสริมจากภาครัฐเพื่อพัฒนากัญชาและกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจมีส่วนทำให้หลายฝ่าย รวมถึงสื่อ เน้นกล่าวถึงคุณประโยชน์ของกัญชา โดยละเลยและมองข้ามโทษของกัญชา

“ปัจจุบัน ในสื่อต่างๆ มักจะนำเสนอแต่ด้านและประโยชน์ของกัญชา ในฐานะพืชสมุนไพรที่สร้างรายได้ มีการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูด ทำให้เห็นว่าเป็นสินค้าน่าซื้อ ไม่มีอันตราย ซึ่งหากมีใครออกมาพูดถึงข้อเสีย เสียงก็คงไม่ดังเท่าไร เพราะเป็นด้านที่ไม่ทำเงินและฟังดูล้าสมัย”

“แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากัญชาก็ยังมีด้านที่เป็นโทษ จริงๆ แล้ว ในกัญชามีสารอีกหลายตัวที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ตัวที่มีผลเสียมากที่สุดก็คือสาร Δ-9-THC นี่แหละ หากบริโภคโดยไม่ระวัง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่มักจะอยากรู้อยากลองและบริโภคตามกระแส จึงอยากให้มีการรณรงค์ทั้งสองด้าน คือ พูดเรื่องประโยชน์ แต่ก็ไม่ลืมเรื่องโทษด้วยเช่นกัน” รศ.ดร.เกื้อการุณย์ กล่าวเน้นด้วยความห่วงใยแม้ในปัจจุบัน กัญชาและกัญชงจะได้รับการปลดล็อคถอดออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถใช้ได้โดยทั่วไปอย่างเสรี หากมีปริมาณสาร Δ-9-THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก ตามประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ก็ยังถือว่าเป็นยาเสพติด ดังนั้น ผู้บริโภคควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ผสมกัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากกัญชาที่อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว

ใส่ความเห็น