รมว.เกษตรฯ ประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน พร้อมกำหนดมาตรการ แนวทางการช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แถลงประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน โดยมุ่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการปกป้องผู้บริโภคและเกษตรกร เนื่องจากสินค้าเกษตรที่ลักลอบนำเข้าโดยไม่ผ่านการตรวจสอบอาจมีเชื้อโรคระบาดต่อสัตว์ สัตว์น้ำ พืช และไม่ปลอดภัย ต่อผู้บริโภค รวมถึงทำลายกลไกราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศ สร้างความเสียหายต่อระบบการเลี้ยงสัตว์ สัตว์น้ำ การปลูกพืชของประเทศไทยอย่างมหาศาล ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้านการเกษตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีประกาศคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าด้านการเกษตรที่ผิดกฎหมาย กำหนดมาตรการ แนวทางการช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย บูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง แต่งตั้งคณะทำงานหรือมอบหมายบุคคลอื่นเพิ่มเติมเพื่อปฏิบัติงานตามความเหมาะสม นอกจากนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้า ด้านปศุสัตว์ – สินค้าประมง – สินค้าด้านพืชที่ผิดกฎหมาย เพื่อเป็นการผนึกกำลังร่วมกันตรวจสอบและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายด้านการเกษตรอย่างเข้มงวด
“ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอเน้นย้ำ กำชับให้เจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เร่งดำเนินการปราบปรามการลักลอบนำเข้า ส่งออกสินค้าการเกษตรอย่างเข้มงวด เพื่อปกป้องพี่น้องเกษตรกรให้มีความมั่นใจในอาชีพ พร้อมที่จะเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร เติมเต็มความมั่นคงทางอาหาร สร้างประโยชน์เพื่อคนไทยและประเทศชาติสืบไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ผลการปฏิบัติงานของกรมวิชาการเกษตร ในปี พ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร โดยเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร ด่านตรวจพืช และสำนักนิติการ ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 จำนวน 44 คดี พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 จำนวน 19 คดี และพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 จำนวน 52 คดี ผลการปฏิบัติงานเกี่ยวกับมาตรการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานด้านสุขอนามัยพืชตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 เพื่อการส่งออกมีการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช จำนวน 723,869 ฉบับ สินค้าพืชมีปริมาณ 60.8 ล้านตัน มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท และการอนุญาตนำเข้ามีจำนวน 565,961 ชิปเม้นท์ ปริมาณ 20.7 ล้านตัน มูลค่า 3.8 แสนล้านบาท ตรวจพบสินค้าที่ผิดเงื่อนไขการนำเข้า จำนวน 221 ครั้ง