นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เผยว่า ขณะนี้เกษตรกร 16 จังหวัด ได้ปลูกพืชฤดูแล้งมากกว่าแผนที่กำหนดไว้ รวมประมาณ 1.32 ล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามแผนที่กำหนดให้เพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้ 4.98 ล้านไร่ แต่ขณะนี้มีการเพาะปลูกแล้ว 5.29 ล้านไร่ คิดเป็น 115% ของแผน โดยเป็นข้าวนาปรัง 4.90 ล้านไร่ เพาะปลูกมากกว่าแผน 15% หรือประมาณ 630,000 ไร่ แม้การปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะมากกว่าแผน แต่การจัดสรรน้ำต้นทุนจากที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังเป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยตามแผนจะจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งสิ้น 4,700 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,199 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของแผน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการบูรณาการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการจัดส่งน้ำแบบรอบเวรตามแผนของกรมชลประทานเลขา กอนช. กล่าวอีกว่า ได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย ในการควบคุมดูแลการลำเลียงน้ำให้สอดคล้องกับแผนที่กำหนดไว้ รวมทั้งได้รณรงค์นำวิธีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งมาใช้ ซึ่งเป็นวิธีที่ประหยัดน้ำ ทำให้ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่าข้าวนาปรังได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ขอความร่วมมืองดการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนดังกล่าวมีจำนวนจำกัด ทั้งนี้ได้มีการหารือพิจารณามาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เช่น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรงบประมาณในการจ้างงานภาคเกษตร เป็นต้น”ในฤดูแล้งปีนี้ กอนช. ได้เน้นย้ำให้ดำเนินการตาม 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งให้เตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ และบุคลากรเพื่อช่วยเหลือประชาชนหากประสบปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนรณรงค์ให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดรู้คุณค่า” เลขาธิการ สทนช. กล่าว