ส.ป.ก.แจงกรณีทิดสมปองกว้านซื้อที่ดินพบส่วนใหญ่อยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดิน 

ตามที่มีการนำเสนอข่าวในสังคมออนไลน์ และสื่อต่างๆ เกี่ยวกับกรณีอดีตพระมหาสมปอง ตาลปุตโต หรือนายสมปอง นครไธสง กว้านซื้อที่ดิน ส.ป.ก. ในท้องที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ กว่า 300 ไร่ เพื่อปลูกยางพารา หรือให้ญาติถือครองที่ดินแทน

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า เมื่อทราบข่าวได้มอบหมายให้ ส.ป.ก.ชัยภูมิ ลงพื้นที่ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงในทันที ซึ่งเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ชัยภูมิ ได้ลงพื้นที่เมื่อวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยได้สืบหาข้อมูลเพิ่มเติมจากทั้งผู้ปกครองท้องที่และราษฎรในพื้นที่เกี่ยวกับตำแหน่งและขอบเขตของแปลงที่ดินเทียบกับแผนที่แนวเขตปฏิรูปที่ดิน รวมทั้งตรวจสภาพการทำประโยชน์ในแปลงที่ดินที่เป็นข่าวแล้ว พบว่า ที่ดินส่วนใหญ่อยู่นอกเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดิน และมีเพียง 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน และเกษตรกรผู้ซึ่งได้รับอนุญาตฯ ยังคงทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองโดยการปลูกหมากและมะพร้าว ทั้งนี้ ส.ป.ก. ไม่ได้นิ่งนอนใจและยังคงเดินหน้าตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปจากข้อมูลการร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน หนังสือร้องเรียน สายด่วน ส.ป.ก. และการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบตามภารกิจอย่างต่อเนื่อง

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก.

ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ขอเรียนชี้แจงว่า พื้นที่ที่เป็นข่าวเดิมเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม (E) ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 538 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 90 ตอนที่ 81 วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 โดย ส.ป.ก.ได้รับที่ดินมาและมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อำเภอคอนสาร อำเภอหนองบัวแดง กิ่งอำเภอภักดีชุมพล อำเภอหนองบัวแดง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอแก้งคร้อ และอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2531 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 241 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2531 ซึ่งเป็นการประกาศให้อำเภอคอนสารเป็นเขตปฏิรูปที่ดินทั้งอำเภอ

จากนั้นสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิ (ส.ป.ก.ชัยภูมิ) จึงได้เข้าดำเนินการสำรวจรังวัดที่ดินเมื่อปี 2532 และ 2537 เพื่อให้ได้ขอบเขตเนื้อที่ของแปลงที่ดินแต่ละแปลงและรายชื่อผู้ครอบครองที่ดิน ต่อมาในปี 2539 ส.ป.ก. และกรมป่าไม้ ได้ร่วมกันดำเนินการตรวจสอบกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำ ผักหนาม (E) จังหวัดชัยภูมิ ในส่วนที่ยังเป็นป่าออกจากเขตปฏิรูปที่ดินตามบันทึกข้อตกลงเพื่อกันคืนพื้นที่ป่า ออกจากเขตปฏิรูปที่ดิน (RF) พ.ศ. 2538 ออกมาได้เป็น 2 แปลง คือ RF แปลงที่ 15 เนื้อที่ประมาณ 10,997 ไร่ และ RF แปลงที่ 20 เนื้อที่ประมาณ 4,223 ไร่

ใส่ความเห็น