“บิ๊กป้อม”สั่งเร่งแผนช่วยเหลือนาข้าวหลังประสบภาวะฝนทิ้งช่วง

สทนช.ยืนยันฤดูแล้ง 2563/64 ที่ผ่านมา รัฐบาลวางมาตรการและแผนเชิงรุกรับมือภัยแล้งประสบผลสำเร็จ ชี้นิยามการประกาศพื้นที่ภัยแล้งตามหลักเกณฑ์ภัยพิบัติ ส่วนปัญหาข้าวนาปีขาดน้ำในปัจจุบันเนื่องจากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง”บิ๊กป้อม”สั่งบูรณาการเร่งให้ความช่วยเหลือ มั่นใจสถานการณ์จะคลี่คลาย 

   จากกรณีที่  นายนพพล เหลืองทองนารา ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย ระบุว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ     รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)  กล่าวว่าประเทศไทยไม่มีภัยแล้ง เป็นการโกหกประชาชนหรือไม่ เพราะในความเป็นจริง เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศไทย ข้าวกำลังยืนต้นตายหมด เพราะชลประทานไม่ปล่อยน้ำเข้าพื้นที่นั้น 

             ดร.สมเกียรติ  ประจำวงษ์  เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ชี้แจงว่าช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/2564 ที่ผ่านมารัฐบาลโดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในเชิงป้องกันล่วงหน้า โดยได้กำหนดมาตรการรับรองสถานการณ์ขาดแคลนน้ำและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง เพื่อแจ้งเตือนทำความเข้าใจกับประชาชน โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนโดยจัดลำดับความสำคัญที่ประชาชนต้องไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคก่อนอันดับแรก และประเมินความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในกิจกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคการเกษตร เพื่อออกมาตรการให้ความช่วยเหลือรายพื้นที่หรือบรรเทาผลกระทบให้เกิดน้อยที่สุด ส่งผลให้ไม่มีการนำเงินทดรองราชการมาใช้ในการบรรเทาภัยพิบัติ ทำให้ตลอดช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา จึงยังไม่มีการประกาศให้เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง) ตามประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่มีหลักเกณฑ์ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ   จะเป็นผู้ประกาศร่วมกับคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.)   ซึ่งจะมีการพิจารณาอย่างละเอียด และมีความเสียหายเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด แต่จากสถานการณ์ปลายฤดูแล้งต่อเนื่องฤดูฝนพบว่ามีบางพื้นที่ประสบปัญหาความแห้งแล้งต่อเนื่อง  ล่าสุด ปภ.ได้มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้วจำนวน 2 จังหวัด 2 อำเภอ 2 ตำบล 9 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เถิน จ.ลำปาง และ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ดังนั้น สิ่งที่ ส.ส.พิษณุโลก กล่าวอ้างถึงรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าประเทศไทยไม่มีภัยแล้งจึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน   

                “ช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 ( 1 พ.ย. 63 – 30 เม.ย.64)  ขณะนั้นมีน้ำต้นทุนที่ใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่     35 แห่ง ทั้งสิ้น 19,868 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 42 %  คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้จัดสรรน้ำสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ 1.เพื่ออุปโภค-บริโภค 2.รักษาระบบนิเวศ 3.เกษตรกรรม และ 4.อุตสาหกรรม รวมถึงการสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ค.2564 ด้วย  ซึ่งการบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้  แม้ในบางพื้นที่มีเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังเกินเป้าหมายบ้าง แต่ก็ไม่ได้รับความเสียหาย ประกอบกับฝนในปีนี้ตกเร็วกว่าปกติ ทำให้มีน้ำต้นทุนเข้ามาหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตร หลายพื้นที่จึงพ้นจากปัญหาขาดแคลนน้ำ”  ดร.สมเกียรติกล่าว 

               เลขาธิการ สทนช.กล่าวต่อว่า จากกรณีที่ฝนในปีนี้มาเร็วกว่าปกติ และตกหนักตั้งแต่เดือนเมษายน 2564  ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งได้เริ่มทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาปีซึ่งเร็วกว่าทุกปี  โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยแล้วฝนยังตกน้อยด้วย ส่งผลให้เกษตรกรที่เริ่มทำการเพาะปลูกฤดูฝนปี 2564 ได้รับผลกระทบการขาดแคลนน้ำ กอนช.จึงได้มอบหมายให้ กรมชลประทาน กฟผ.เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งติดต้ั้งเครื่องสูบน้ำช่วยสูบช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ   โดยเฉพาะกรมชลประทานขณะนี้ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่นาปี น้ำอุปโภค-บริโภค และพืชไร่ 

               “สถานการณ์น้ำของประเทศล่าสุด (15 มิ.ย.64) มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ทั้งนี้ กอนช. คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 15 – 21 มิ.ย.นี้ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ จะมีปริมาณน้ำไหล  เข้าอ่างฯ กว่า 277 ล้าน ลบ.ม.  ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์ขาดแคลนน้ำเริ่มคลี่คลายลง สามารถบรรเทาปัญหาผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียได้จากภาวะฝนทิ้งช่วงได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้  สทนช. เร่งบูรณาการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำโดยเร็ว อย่างเป็นธรรมและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะข้าวนาปีที่เกษตรกรปลูกในขณะนี้”  เลขาธิการ สทนช.กล่าวในตอนท้าย 

                                                                        ………………………………….. 

ใส่ความเห็น