พช. ผนึกกำลังสู้ภัยโควิด ฝ่าวิกฤตสร้างแหล่งอาหารพึ่งตนเองเพื่อชุมชน เพื่อชาติ

กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วันปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 และได้ประสานความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายขยายผลอย่างต่อเนื่อง ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการทุกหมู่บ้าน ทุกครัวเรือนให้รับรู้และเกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร อีกทั้งเสริมสร้างรายได้และความรักความสามัคคี ความเกื้อกูลของคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้นำเข้าร่วมโครงการ 76 จังหวัด โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 12,120,665 ครัวเรือน อีกทั้งมีหมู่บ้านที่สามารถเป็นต้นแบบในแต่ละอำเภอ อำเภอละ 1 หมู่บ้าน ซึ่งมีผู้นำการเปลี่ยนแปลงสนใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 34,537 คน โดยประสานความร่วมมือสร้างเครือข่ายสนับสนุน และขยายผลในการแลกเปลี่ยนแบ่งปันเมล็ดพันธุ์/ต้นกล้า

โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด (ศรแดง) ได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์สู่พี่น้องประชาชนชาวไทย 76 จังหวัด รวมถึงได้บูรณาการความร่วมมือกับ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ผ่านอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ในการขับเคลื่อนโครงการฯ โดยมุ่งเน้นผู้นำต้องทำก่อนรณรงค์ เชิญชวนให้ผู้นำชุมชน (อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกอาสาสมัครพัฒนาชุมชน คณะกรรมการพัฒนาสตรีหมู่บ้าน ผู้นำท้องที่/ท้องถิ่น ฯลฯ) กลุ่ม องค์กร เครือข่าย และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ รวมถึงส่งเสริมให้บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน บูรณาการร่วมกัน เป็นต้นแบบการปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงด้านอาหาร สร้างวิถีพอเพียง เพื่อความสุขสมบูรณ์แบบอย่างยั่งยืน สร้างกระแสการปลูกผักอย่างต่อเนื่อง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การปลูกพืชผักสวนครัว โดยมุ่งเน้นให้ทุกครัวเรือน คือ คลังอาหารมีการปลูกพืชผักสวนครัวอย่างน้อย 10 ชนิด เพื่อเป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือน จากการซื้อพืชผักสวนครัวมาบริโภคในระดับครัวเรือน หากคิดมูลค่าเพียง 50 บาท/วัน 12 ล้านครัวเรือน สามารถประหยัดเงินได้มากกว่า 2 แสนล้านบาท/ปี ทุกหมู่บ้านเป็นศูนย์แบ่งปัน มีการรณรงค์สร้างคลังอาหารชุมชนโดยใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ เกิดถนนกินได้ปลอดภัยไร้สารพิษ 288,883 แห่ง ปลูกผักร่วมกันในที่สาธารณประโยชน์ 281,597 แห่ง ปลูกผักสวนครัวจากศาสนสถานสู่ชุมชน 198,127 แห่ง เกิดการแลกเปลี่ยนผลผลิตและแบ่งปันในชุมชน 512,332 ครั้ง แลกเปลี่ยนผลิตและเกิดการแบ่งปันระหว่างชุมชน 335,334 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2564) ซึ่งทำให้ครัวเรือน สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้เกิดความสามัคคี มีวิถีพอเพียง มีความเกื้อกูลกัน สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอย่างต่อเนื่อง

จากความสำเร็จของกรมการพัฒนาชุมชนที่ได้ช่วยเหลือและผลักดันให้ประชาชนหันมาปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร สามารถช่วยให้ประชาชนในชุมชนจากหลายพื้นที่เกิดการพึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน เป็นชุมชนที่มีความเข้มเเข็งอย่างยั่งยืน

########

ใส่ความเห็น